“ร่วมเรียนรู้กับน้องๆ ณ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร”

วันแรกพบจบด้วยใจ
ณ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร ภายใน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัด เพชรบุรี พวกเรา4คนเป็นนักศึกษาฝึกงาน จาก 2รั้วมหาวิทยาลัย ลภัส ประศรีหาคลัง (จ๋า) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศุภาพิชญ์ ยลถวิล (พีช) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริวิมล แก้วปัญญา (ลูกแก้ว) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอาทิตยา กรุดสุข (อุมา) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เดินทางมาเพื่อฝึกงานและเรียนรู้เรื่องราวการทำงานพัฒนาสังคมของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เครือซีพี

โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาในพระราชานุเคราะห์ เป็นอีก 1 ในโครงการด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งทางมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน สร้างโอกาส สร้างความมั่นคง ส่งเสริมสุขภาพ และทักษะอาชีพ โดยมี คุณอารีรัตน์ เหลือหลายหรือ “ครูรี” ผู้บริหารโครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ คุณอัญชลี เกิดทองหรือ “ครูนก” ผู้บริหารงานศูนย์ฝึกสาธิตธุรกิจเกษตรฝึกอบรม ฝึกอาชีพนักเรียนทุนพระราชานุเคราะห์ และคุณอาภากร เจ็กกลัด หรือ “พี่น้ำ” ทีมงานศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรห้วยทราย เป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยในการดูแลเด็กและเยาวชนภายในศูนย์ฯ และดูแลความเรียบร้อย อีกทั้งมีครูตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 2 คน ซึ่งสลับกันมาทุกสัปดาห์ เพื่อสร้างระเบียบวินัยในตัวนักเรียน การมาครั้งนี้ของพวกเราทั้ง 4 คน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง จากผู้ดูแลทั้ง 3 ท่านได้มีการแนะนำถึงรายละเอียดของโครงการและภาพรวมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ รวมถึงวิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวันของน้องนักเรียนทุนฯ

สิ่งที่เราได้เห็นและเรียนรู้คือศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรมีการส่งเสริมให้น้องๆ ช่วยเหลือพึ่งพาตนเองผ่านรูปแบบกิจวัตรประจำวัน เช่น การดูแลเครื่องแต่งกาย การปรุงอาหาร มีการแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานเกษตรและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมภายในศูนย์ฯ ซึ่งกิจวัตรและกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้น้องๆ ได้รับทักษะชีวิตและทักษะทางด้านอาชีพ รู้จักช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง และสามารถนำความรู้ทักษะไปต่อยอดในอนาคต ตามเป้าหมายในการสร้างสรรค์ความดี 3 ประการ “คนดี พลเมืองดี อาชีพดี”



น้องๆไม่ธรรมดาความสามารถเกษตรทำอาหารทุกมื้อร่วมมือกัน
“เราจะกินข้าวมื้อนี้ไม่ให้เหลือแม้แต่เม็ดเดียว” นี่เป็นคำปฏิญาณก่อนทานอาหารทุกมื้อของน้องๆ ในศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทที่ถือเป็นอีกเบ้าหลอมทางสังคม โดยวัตถุดิบในการทำอาหารแต่ละมื้อก็ล้วนมาจากผลผลิตที่น้องๆในศูนย์ฯ ได้ร่วมแรงร่วมใจเพาะปลูกและดูแล เริ่มตั้งแต่หว่านเมล็ดพันธุ์ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งนี้ก็สอนให้น้องๆ รู้จักการช่วยตัวเองและคำว่าพอเพียง เพราะการเพาะปลูกทานเองช่วยลดค่าใช้จ่ายวัตถุดิบในการทำอาหาร เช่น พืชผักสวนครัวต่างๆ คะน้า พริก มะเขือยาว เป็นต้น น้องๆ ที่นี่จึงมีทักษะอาชีพการเกษตร การช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง รวมถึงการอยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตตลอดจนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้กลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดได้

พวกเรานักศึกษาฝึกงานทั้ง 4 คน ได้มีส่วนร่วมกับกิจวัตรประจำวันของน้อง ๆรวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ตั้งแต่การเลี้ยงหมู แพะ การดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการประกอบอาหารในทุกมื้อ โดยน้องๆ ที่ศูนย์ฯ จะมีการจัดเวรและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการทำอาหารและดูแลครัว ทีมงานของศูนย์ฯ มีการส่งเสริมให้น้องๆ ได้รู้จักและเห็นคุณค่าในวัตถุดิบ จากการให้น้องๆ ได้ลงมือทำเองตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการเพาะปลูก ไปจนถึงการประกอบอาหารและทานอาหารให้หมดทุกมื้อ นอกจากนี้ก่อนทานอาหารมื้อค่ำจะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเกร็ดความรู้จากตัวแทนน้องๆ นับตั้งแต่นักเรียนชั้น ม.6 จนถึงชั้น ม.1 ทุกคน ทำให้พวกเราก็ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ จากกิจกรรมนี้ด้วย สร้างความประทับใจให้พวกเราที่เห็นศักยภาพ ความสามารถทางการเกษตรและการประกอบอาหารของน้องๆ ในทุกมื้อ

เรียนรู้วิชา “แพะ” สร้างคน
นอกจากการได้เห็นการทำกิจวัตรประจำวันของน้องๆในด้านการเพาะปลูก ไปจนถึงการทำอาหารเพื่อการดำรงชีวิตแล้ว พวกเราทั้ง4คนยังได้มีโอกาสเรียนรู้วิชา”แพะ”เราจึงบอกว่า “อรุณเบิกฟ้า 8 นาฬิกา ณ คอกแพะ” พวกเราได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมกับน้องๆ ณ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ “แพะ” ซึ่งน้องๆ จะมีการรับประทานอาหารในมื้อเช้าและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเวลา 08.00 น.ในรอบเช้า และเตรียมตัวให้พร้อมก่อน16.00 น. ในรอบเย็น จากนั้นจึงเริ่มปฏิบัติภารกิจงานเกษตรและเลี้ยงสัตว์ “แพะ”เป็นหนึ่งในภารกิจการดูแลเลี้ยงสัตว์ตามหน้าที่รับผิดชอบของน้องๆ โดยมีการแบ่งเป็นส่วนงานได้แก่การทำความสะอาดคอกแพะ เช่น การกวาดคอกแพะกำจัดมูลสัตว์ เปลี่ยนน้ำดื่มแพะ ฯลฯ

-การให้อาหารแพะ โดยมีทั้งอาหารเม็ดและพืช เช่น หญ้าหวานอิสราเอล ต้นกระถิน หยวกกล้วยและใบกล้วย เป็นต้น

-การรีดนมแพะ เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดเต้านมซึ่งมีจะการฆ่าเชื้อก่อนรีดนม ซึ่งจะมีการรีดนมทั้งเช้าและเย็น หลังจากรีดนมเสร็จจะมีการทาน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดและป้องกันแมลง โดยการรีดนมมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันแม่แพะเต้านมอักเสบจากการคัดเต้า และสิ่งสำคัญคือน้องๆ ได้บริโภคนมแพะจากแรงกายแรงใจ ได้รับคุณค่าทางโภชนาการจากนมแพะ

-การดูแลลูกแพะ การสังเกต ติดตามและประเมินลูกแพะทุกตัวในแต่ละช่วงวัยการเลี้ยงแพะถือเป็นกิจกรรมการฝึกฝนและเรียนรู้นอกเหนือห้องเรียน ซึ่งสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถในการเลี้ยงสัตว์ให้แก่น้องๆ สร้างความภาคภูมิใจในผลผลิตนมแพะจากแรงกายที่ลงมือทำ สร้างทุนทางความรู้และทักษะด้านอาชีพ ซึ่งน้องๆ สามารถนำความรู้และทักษะเหล่านี้ไปต่อยอดในอนาคต

จากการมีส่วนร่วมปฏิบัติกิจกรรมเลี้ยงแพะ ทำให้พวกเราทั้ง4ได้เรียนรู้กระบวนการดูแลแพะ สร้างปฏิสัมพันธ์กับน้องๆ รวมถึงพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ สร้างความประทับใจในความตั้งใจปฏิบัติงานของน้องๆ และสิ่งสำคัญคือน้องๆ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้พวกเราอย่าง
ภาคภูมิใจ

พวกเราถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ได้เห็นกระบวนการสร้างคนดี พลเมือง อาชีพดีที่มูลนิธิฯต้องการปลูกฝังในตัวน้องๆเยาวชนที่ขาดโอกาสจากแดนไกลได้เรียนรู้การใช้ชีวิต การรู้จักการพึ่งพาตนเอง การทำมาหากิน ตลอดจนการอยู่ร่วมกับคนอื่น หวังว่าน้องๆได้มีโอกาสด้านการศึกษาและอาชีพที่จะเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีพร้อมจะงอกงาม สร้างคุณค่าให้กบตัวเองและผู้อื่นต่อไป