มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนโครงการมุ่งแก้ปัญหาความยากจน ภายใต้เป้าหมาย สร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้าน “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี และชุมชนสิ่งแวดล้อมดี” ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมอาชีพยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนุนชุมชนพึ่งตนเอง เสริมความแข็งแกร่งพลังชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 33 ปี ของการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ มุ่งมั่นสานต่อภารกิจ สร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้าน “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี และชุมชนสิ่งแวดล้อมดี” โดยภารกิจหลักที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ร่วมขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน จากการที่มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการต่างๆ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ โครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรที่อยู่โดยรอบ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ รวม 7 แห่ง โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ จ.สงขลา ตามดำริของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา และโครงการพัฒนาการตลาดร้านค้าชุมชนและ E Commerce เป็นต้น
ผลสำเร็จจากความมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่างๆ คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ การลดรายจ่าย และส่งเสริมการออม ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนและเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยที่ผ่านมา สะท้อนได้จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วมากกว่า 5,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากโครงการส่งเสริมอาชีพและโครงการด้านสังคมประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อจัดการอาชีพ สามารถเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดความรู้และขยายผลต่อเนื่อง เกิดเป็นกลุ่มอาชีพใหม่ กลุ่มออมทรัพย์ เกษตรกรได้เรียนรู้การมีวินัยในการออมเงินและรู้จักวางแผนการออม รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน
“ปณิธานการทำงานของมูลนิธิฯ มีเป้าหมายตอบแทนคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ เรามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ดูแลชุมชนและเกษตรกรให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ ด้านรายได้ พึ่งตนเองและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และสนับสนุนเป้าหมาย SDGs” นายจอมกิตติ กล่าว
นายจอมกิตติ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งเสริมอาชีพและโครงการด้านพัฒนาสังคมที่มูลนิธิฯดำเนินการ ส่งผลเชิงบวกทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. กาญจนบุรี เน้นส่งเสริมเกษตรกรพึ่งตนเอง ด้วยการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ระบบ EVAP ให้เกษตรกร รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนและมอบองค์ความรู้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกร และลูกหลาน เกษตรกรขยายผลปลูกพืชผักเพื่อจำหน่ายในพื้นที่และส่งตลาดในจังหวัดใกล้เคียง ยังมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้านสร้างอาชีพในชุมชน สมาชิกของครอบครัวได้เรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีบ้าน มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
นอกจากนี้ ในส่วนโครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น ปลูกตาลโตนด ทำนาข้าวอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรผสมผสานแปรรูปผลผลิตการเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระราชดำริ “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ 7 แห่ง มีเป้าหมายพัฒนาระบบการทำงานของสหกรณ์ พัฒนาผู้นำสหกรณ์ ส่งเสริมอาชีพสมาชิก สร้างกระบวนการทำงานร่วมกันของผู้นำและสมาชิกฯ สนับสนุนและพัฒนาเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาวสหกรณ์ โดยมีมูลนิธิฯ สนับสนุนการดำเนินงานต่อเนื่องด้านอาชีพ ส่งเสริมความรู้และพัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรพึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ขยายผลได้ อาทิ คัคเลือกเกษตรกรชั้นเยี่ยมเข้าร่วมโครงการและพัฒนาเป็น ผู้นำอาชีพต้นแบบ คัดเลือกเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จเป็นพี่เลี้ยงให้สมาชิก และโครงการการตลาดร้านค้าชุมชน / E Commerce มูลนิธิฯ ผนึกกำลังกับหน่วยธุรกิจของเครือซีพี ร่วมพัฒนาศักยภาพร้านค้าชุมชน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เติมองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการร้าน การใช้เทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจท้องถิ่นและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน./