สำหรับชาวบ้านในต.ปากรอ ไม่มีใครไม่รู้จัก “พี่เอี้ยง” ผู้เป็นที่ปรึกษา และพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่จะทำให้ชุมชนต.ปากรอและ ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร กลายเป็น “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ยกระดับคุณภาพชีวิต 4 ด้าน คือ สร้างคน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้านสุขภาพ และด้านจิตใจ (สร้างคนดี)
พี่เอี้ยงเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการดำเนินงาน เกิดจากได้รับนโยบายของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่จะพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกร ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในจังหวัด ผ่าน “โครงการพัฒนาอาชีพ ตำบลปากรอ” ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โดยพี่เอี้ยงมีแนวคิดว่า จะทำให้เกษตรกรเห็นผลความสำเร็จได้ “พี่เอี้ยงขอเกษตรกรต้นแบบเอง!!”
โดยลงทุนซื้อพื้นที่นาแล้งกว่า 20 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” คือมีเป้าหมายการพัฒนาคน หมู่บ้าน ชุมชนและสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงด้านจิตใจ
โดยพี่เอี้ยงได้แบ่งพื้นที่สวนเทพหยา เป็น 2 ส่วน คือ 15 ไร่ ตนจะนำมาจัดสรรทำ “แผ่นดินทอง” และอีก 5 ไร่ บริจาคแก่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในการทำ “แผ่นดินธรรม” โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นแหล่งเรียนรู้ และนำมาเป็นต้นแบบใน จ.สงขลา ให้สามารถนำโมเดลไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้อยู่ได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งกายและใจ
สำหรับพื้นที่ “แผ่นดินทอง” ภายในสวนเทพหยา 15 ไร่ นำแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” โดยแบ่งอัตราส่วน 30:30:30:10 คือ ส่วนที่หนึ่ง 30% ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ ส่วนที่สอง 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันให้เพียงพอตลอดปี ลดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ ส่วนที่สาม 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่และสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือจากบริโภคก็นำไปจำหน่ายได้ และส่วนที่สี่อีก 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่น ๆ
นอกจากนี้ พี่เอี้ยงยังเล่าว่า ยังได้เปิดสวนเทพหยา ให้คณะศึกษาดูงาน ทั้งระดับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักเรียนนักศึกษา และยังทำซุ้มกว่า 10 ซุ้ม เพื่อให้ชาวบ้าน เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ได้นำผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆมาวางจำหน่ายให้กับคณะศึกษาดูงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชน ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา ในการเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสายอีกด้วย!
ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าของพี่เอี้ยง ในการทำให้สวนเทพหยา กลายเป็นพื้นที่ศูนย์รวมของชุมชน จึงมีการทำตลาดซุ้มขายของทุกวันเสาร์ และยังมีกิจกรรมสำหรับการพัฒนาอาชีพ สำหรับผู้สูงอายุ และกีฬาสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ กิจกรรมการทำน้ำยาเอนกประสงค์ กิจกรรมการสานชะลอมจากใบตาลโตนด กีฬามวยทะเล โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน อบต. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่แวะเวียนมาร่วมสอนและให้ความรู้ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งพี่เอี้ยงตั้งใจว่าในแต่ละสัปดาห์ จะมีกิจกรรมไม่เหมือนกัน เพื่อให้กิจกรรมมีความหลากหลาย และสนุกกับงานที่พี่เอี้ยงตั้งใจ
ทั้งหมดนี้ เป็นผลงานที่ “พี่เอี้ยง” มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำมาตลอดอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของผู้ที่มีจิตสาธารณะ ที่ตั้งใจอุทิศตนพัฒนาพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในจังหวัดสงขลา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งพี่เอี้ยงยังพูดทิ้งท้ายอีกว่า…
“…ที่ผ่านมาเรียนรู้มาเยอะ มีประสบการณ์มาแล้ว การที่มาทำสวนเทพหยา เพื่อเป็นพื้นที่ให้ชุมชนได้มาเรียนรู้ ได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เติบโตมามีคุณภาพกาย และคุณภาพใจ แต่เป้าหมายสูงสุดคือ สามารถเป็นพื้นที่โมเดลต้นแบบให้พื้นที่อื่นสามารถนำไปทำตามได้ ชีวิตที่เหลืออยู่จะขอทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ! ผมเป็นคนไม่ยอมแพ้! เพราะผมสะกดคำว่าล้มเหลวไม่เป็น…”
#เครือซีพี #มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท #โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ #ตำบลปากรอ #พัฒนาอาชีพเกษตรกร