เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือฯ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัสส์) เข้ารับซื้อผลิตผลทางการเกษตร “ฟักทอง” ในโมเดล เกษตรมูลค่าสูง จากโครงการ “อมก๋อย โมเดล” ในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยเป็นกระบวนการรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกร เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและสร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการฯ โดยในครั้งนี้ เป็นผลผลิตล็อตแรก จากเกษตรกรรุ่นที่ 1-2 มีจำนวนรวม 7.73 ตัน ใน 5 ไร่ สามารถสร้างรายได้กว่า 110,000 บาท ส่งจำหน่ายที่ ศูนย์กระจายสินค้าโลตัสส์ เขตภาคกลาง
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับโมเดลเกษตรมูลค่าสูง เป็นยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” นอกจากนี้ยังสนับสนุนต่อยอดให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรนำไปสู่ กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ให้มีความยั่งยืนในด้านการดำเนินธุรกิจ สามารถมีรายได้ที่มั่นคง และยังคืนผลประโยชน์นั้นให้แก่สังคม และชุมชน
โดยการดำเนินงานดังกล่าวฯ เครือซีพี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจโลตัสส์ ในการลงพื้นที่ให้คำแนะนำการผลิตเกษตรมูลค่าสูง ดูความพร้อมของเกษตรกร จุดรวบร่วมคัดบรรจุผลผลิตทางการเกษตร การรับซื้อและจัดการผลผลิตที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ และสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร สำหรับผลผลิต “ฟักทอง” เป็นการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ตรงตามมาตรฐานที่โลตัสส์กำหนด ทั้งขนาด น้ำหนัก สีผิว รวมทั้งเนื้อฟักทองสีสวย นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2565 จะมีผลผลิตจากรุ่นที่ 3-4 อีกกว่า 16 ตัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกกว่า 144,000 บาท
ทั้งนี้ โครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการ เพื่อฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตและเพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน