กว่า 3 ทศวรรษ ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ร่วมกับกลุ่มธุรกิจเครือซีพี อย่างซีพีเอฟ แม็คโคร และภาคีเครือข่าย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในมิติด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 930 โรงเรียน กระจายไปทั่วประเทศกว่า 74 จังหวัด โดยมูลนิธิฯ มีเป้าหมายส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีแก่นักเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ส่งเสริมการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ต่อยอดสู่บูรณาการสู่การเรียนการสอน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการ มีรายได้ จัดเป็นกองทุนให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนได้
“โรงเรียนบ้านหุบกะพง” อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งโรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2564 เนื่องจากโรงเรียนเน้นเรื่องการเพิ่มทักษะอาชีพให้นักเรียนโดยมีแปลงผักอยู่ในโรงเรียนอยู่ก่อนแล้ว การเข้าร่วมโครงการฯ จึงเป็นโอกาสที่ดีอีกทางหนึ่ง เพื่อให้มีอาหารกลางวันที่โภชนาการครบถ้วน โดยที่ผ่านมาโรงเรียนก็สามารถมีผลผลิตไข่ไก่ นำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารที่อุดมไปด้วยโภชนาการ “โปรตีน” นอกจากนี้นักเรียนยังได้เพิ่มทักษะอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ฯ อีกด้วย
คุณขวัญพัฒน์ โชติทิพยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหุบกะพง สพป.เพชรบุรี เขต2 เล่าว่า หลังจากร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ โรงเรียนได้เตรียมครูฝ่ายมัธยมดูแลโครงการฯ และมอบหมายนักเรียนระดับชั้นมัธยมในการดูแลโรงเรือน ทั้งการให้อาหารไก่ การเก็บไข่ไก่ และทำความสะอาดโรงเรือน นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญอย่างสัตวบาล จากซีพีเอฟ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำวิธีดูแลไก่อย่างไร ให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งก็ทำให้ได้ผลผลิตไข่ไก่ที่ดี สดใหม่ และสะอาด นำมาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารมื้อกลางวันให้นักเรียนทุกคนได้รับประทาน นอกจากนี้ ยังเหลือไข่ไก่ที่สามารถแบ่งให้ผู้ปกครองของนักเรียนมาซื้อ ซึ่งผลตอบรับคือคุณภาพไข่ไก่สด อยู่ได้นาน
ในส่วนของครูผู้ดูแลโครงการ ก็มีความรู้สึกว่า ได้รับความรู้ใหม่ๆ ร่วมกับนักเรียน ทั้งการบริหารจัดการโครงการ วิธีการเลี้ยงไก่ให้ได้ไข่ไก่ในปริมาณที่เหมาะสม ตลอดจนการคัดแยกประเภทไข่ เปลือกแข็งเปลือกอ่อน สีเข้มสีอ่อน น้ำหนัก ความสมบูรณ์ของไข่ ที่มีผลต่อราคาขาย ถ้าพูดถึงการขาย ก็จะได้ความรู้เรื่องต้นทุนการผลิต มาคำนวณราคาขายให้ได้กำไรมาหมุนเวียนในโครงการได้ ตลอดจนเด็กนักเรียน ก็สามารถใช้โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้โดยปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน ได้ทั้งความรู้และความสนุกควบคู่ไปด้วย
“ขอขอบคุณ…มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่เข้ามาสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนให้กับโรงเรียนบ้านหุบกะพง เป็นประโยชน์มาก ที่มูลนิธิฯ เข้ามา และให้องค์ความรู้ต่าง ๆแกครูและนักเรียน”
หลังจากนี้ โรงเรียนยังเตรียม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จัดกิจกรรมเพิ่มทักษะอาชีพร่วมมือกับมูลนิธิฯ โดยสร้างแปลงจำลอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ผักแต่ละชนิด กระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต และให้นักเรียนสร้างสรรค์ทั้งพืชผัก และไข่ไก่ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า อาหารและขนม ในกิจกรรม ‘ถนนสายอาชีพ” ที่เด็ก ๆ จะต้องนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำทักษะต่าง ๆ ต่อยอดอาชีพได้ในอนาคต
###