มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ชูอัตลักษณ์ “วิถีการทำนาริมเล” เดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน

(16 ก.ย. 66) มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “ข้าวใหม่ ปลามัน” โดยมี นางสาวศรอนงค์ สงสมพันธ์ นายอำเภอเมืองพัทลุง เป็นประธาน พร้อมด้วย นายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง นายกิติพงค์ สงนุ้ย หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง พัทลุง-สงขลา นายสำอาง ศิริรัตน์ รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 9 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) นายสายันต์ รักดํา ประธานกลุ่มทําเลริมเลบ้านปากประ และนายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท รวมทั้งหน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษา ชาวประมง และชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อร่วมกันส่งเสริม อนุรักษ์ และสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ จ.พัทลุง ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เข้มแข็ง เตรียมพร้อมและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนที่มีมูลค่าและมีอัตลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 250 คน ณ นาริมเล โรงเรียนบ้านปากประ อ.เมือง จ.พัทลุง นางสาวศรอนงค์ สงสมพันธ์ นายอำเภอเมืองพัทลุง เปิดเผยว่า กิจกรรม “ข้าวใหม่ ปลามัน” เป็นอีกหนึ่งของดีของพัทลุง เป็นนาริมเลแห่งเดียวในประเทศไทย และที่สำคัญข้าวนาริมเลกำลังจะได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดพัทลุงอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้จังหวัดพัทลุงเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีกิจกรรมทางเลือกในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รู้จักพัทลุงมากขึ้น “เพราะถ้าทุกคนรู้จัก ก็จะรักพัทยาลุง” มากขึ้นเช่นกัน ทางด้านนายกฤตยรัฐ ปารมี กล่าวว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ขับเคลื่อนงานการพัฒนาด้านความยั่งยืนของประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย มุ่งพัฒนา 4 ด้าน คือ ด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านพัฒนาชุมชนและเกษตรกร และด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนงานด้านทะเลสาบสงขลายั่งยืน ที่ตั้งเป้าหมาย 3 ส่วน อาทิ การปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสาบสงขลา การพัฒนาคน อาชีพ ชุมชน และการผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการสร้างความสมดุลทางทรัพยากรประมง กับชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน นายสายันต์ รักดํา กล่าวว่า “ข้าวใหม่ ปลามัน” มีที่มาจากคำว่า “ข้าวใหม่” เปรียบเสมือนข้าวต้นฤดูกาลที่เกิดจากการทำนาริมเลหนึ่งเดียวในประเทศไทย และยังเป็นบ้านปลาแบบมีชีวิต แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำบริเวณพื้นที่ทะเลลาบสงขลา ส่วนคำว่า “ปลามัน” หมายถึง ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบสงขลา มีลักษณะอ้วนท้วมสมบูรณ์ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีผลมาจากการทำบ้านปลา โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้ผนึกกําลังทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการประชาสัมพันธ์วิถีชีวิตของการทำนาริมเลให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในชุมชนเป็นอย่างมาก ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็น “การเป็นหุ้นส่วนการขับเคลื่อนพื้นที่ชุมชนสู่ความยั่งยืน” กิจกรรมพิธีทำขวัญข้าว กิจกรรมออกปากกินวาน เก็บข้าวด้วยแกะ ซึ่งเป็นวิถีการเก็บข้าวแบบพัทลุง และร่วมรับประทานอาหารกาลาดินเนอร์ร่วมกับชุมชนอย่างพร้อมเพรียง โดยบรรยากาศภายในงานอบอวลไปด้วยรอยยิ้มและความอบอุ่น ทั้งนี้เชื่อว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทมุ่งหวังว่า กิจกรรม “ข้าวใหม่ ปลามัน” จะเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดพัทลุง เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพจากท้องถิ่นสู่รายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน

++++++++++++++++++++