11 กรกฎาคม 2566 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ถอดบทเรียน การวิจัยและพัฒนาหลักสูตร โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เพื่อยกระดับการดำเนินโครงการฯ สู่การจัดทำหลักสูตรแกนกลางที่โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยมีนายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิฯ พร้อมด้วย ดร.สำรวย ภักดี รองผู้อำนวยการ สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการ สนง.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน พ.ต.อ.หญิง ณัชชา เขมะสิงคิ ผกก.ฝอ.7 บก.อก.บช.ตชด. นายวราราชย์ เรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส บมจ.ซีพีเอฟ คณะวิทยากรจากสถาบันรามจิตติ และคณะครูอาจารย์จากโรงเรียนต้นแบบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จำนวน 11 โรงเรียน เข้าร่วมการถอดบทเรียนและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ณ โรงแรม เอเชีย แอร์พอร์ท กรุงเทพมหานคร
นายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ และซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ แล้วจำนวน 959 โรงเรียน เพื่อส่งมอบคุณค่าทางโภชนาการอาหาร แหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ แก่เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารทั่วทั้งประเทศ โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้มีเด็กและเยาวชน ประชาชนเข้าถึงความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการแล้ว 213,000 คน ผลิตไข่ไก่เพื่อบริโภคไปแล้วกว่า 26.2 ล้านฟอง เนื่องด้วยมูลนิธิฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ จึงมุ่งยกระดับผลลัพธ์การจัดการองค์ความรู้จากโครงการฯ พัฒนาเป็นหลักสูตรแกนกลางต้นแบบ โดยทุกโรงเรียนสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ตามบริบทและความเหมาะสม จึงได้ผนึกกำลังกับโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ. และ บก.ตชด. เพื่อถอดบทเรียน การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในครั้งนี้
ด้าน นายวราราชย์ เรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส บมจ.ซีพีเอฟ กล่าวว่า ด้วยภารกิจของมูลนิธิฯ ที่มุ่งสืบสาน รักษาและ ต่อยอด งานพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน เกษตรกรและผู้สูงวัยในชนบทห่างไกล ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาทนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ซีพีเอฟ ได้ร่วมกับมูลนิธิฯ ส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และบุคลากร เข้าไปติดตาม ดูแลให้คำแนะนำด้านการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการผลผลิตไข่ไก่สด แก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนที่ร่วมโครงการแล้วกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ ซีพีเอฟ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนที่เป็นอนาคตของชาติได้บริโภค ไข่ไก่ ที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีต่อไป และหวังว่าโรงเรียนที่ได้รับโอกาสดำเนินโครงการฯ จะสามารถบริหารจัดการโครงการฯ สู่ ความสำเร็จอย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
การจัดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบที่มีผลการเลี้ยงดี และมีหลักสูตรเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนใช้ในรายวิชา จำนวน 11 โรงเรียน จากทั่วประเทศ มาถ่ายทอดประสบการณ์ ทักษะการเลี้ยง ตลอดจนการบริหารจัดการโครงการฯ ร่วมกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการถอดบทเรียน โดยวิทยากรจากสถาบันรามจิตติ ที่เข้ามาร่วมออกแบบและพัฒนาหลักสูตร ผ่านกิจกรรมการค้นหา วิเคราะห์แนวคิดการเลี้ยงไก่ไข่ และการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดสมรรถนะจากกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่ไข่ ทั้งด้านบริหารจัดการ ด้านการเงิน ด้านอาชีพ สู่การพัฒนาเป็นธุรกิจ และพัฒนาให้เป็นหลักสูตรแกนกลางร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
ด้าน ดร.สำรวย ภักดี รองผู้อำนวยการ สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง สร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองมีความสุขนั้น ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ของมูลนิธิฯ ที่พัฒนาทักษะด้านโภชนาการ ด้านการเป็นผู้ประกอบการ และด้านการบริหารกองทุน และสพฐ.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้การสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและบุคลากรของหน่วยงาน ร่วมนำองค์ความรู้ที่ได้ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ ร่วมกัน มาพัฒนาและยกระดับการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ สู่การจัดทำหลักสูตรแกนกลางที่ทุกโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทในแต่ละพื้นที่ นับว่าเป็นการสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชนไปสู่อนาคตได้เป็นอย่างดี โดยแนวทางหลักสูตรที่ได้จากการสัมมาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้กับทุกโรงเรียนต่อไป
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เป็นความร่วมมือของ เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตาม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” มาดำเนินการสานต่อ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัย ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา ตลอดจนชุมชน ได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการบริหารฟาร์มขนาดเล็ก และประยุกต์กิจกรรมสู่การเรียนการสอน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญด้านการจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู นักเรียน ได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชน ทำให้ได้บริโภคไข่ไก่สดในราคาที่เหมาะสม สร้างรายได้หมุนเวียน ต่อยอดขยายผล เกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน