โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม

ที่มาหลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับการถ่ายทอดจาก ดร.โทมัส หยี นักวิชาการด้านการเกษตรจากประเทศไต้หวัน ที่กล่าวไว้ว่า สถิติอาชญากรรมในประเทศไต้หวัน ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ มีประวัติเป็นเด็กกำพร้าจากสถานสงเคราะห์ เพราะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดความผูกพัน เป็นเหมือนระเบิดเวลาของสังคม ควรหาครอบครัวช่วยดูแลทดแทนพ่อแม่ที่เด็กขาดไป

ด้วยเจตนารมณ์ที่เชื่อมั่นว่าเด็ก ที่เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม มีสถาบันครอบครัวและชุมชนเป็นแกนหลัก พัฒนา หล่อหลอม อบรมบ่มนิสัยให้เด็ก ๆ เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ได้เรียนรู้ถึงความรัก ความผูกพัน ความเอื้ออาทร และการเกื้อกูล มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้มุ่งมั่นสร้างความดี เพื่อครอบครัว เพื่อชุมชน และสามารถดำเนินชีวิตสืบต่อไปได้อย่างมีคุณค่า

สำหรับเด็กกำพร้า แม้จะได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตตามวัยในสถานสงเคราะห์ แต่ยังขาดองค์ประกอบสำคัญคือ “ครอบครัว” ทำหน้าที่ดูแลให้มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ไปพร้อม ๆ กัน เป็นสถาบันแรกให้เด็กเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางสังคม การให้เด็กกำพร้าได้เติบโตในครอบครัวทดแทน ซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนอันดีงาม “ครอบครัวอุปการะ” จึงทำหน้าที่เป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบของสังคมที่มีต่อเด็ก

วัตถุประสงค์
เพื่อสร้างความรัก ความอบอุ่น และความมั่นงคงทางจิตใจอย่างถาวร โดยมีครอบครัวอุปการะและชุมชนเป็นเบ้าหลอม พร้อมถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงาม

เป้าหมาย
เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา ขัดเกลา ให้เด็กกลุ่มนี้เป็นคนดี พลเมืองดีที่มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมสร้างสรรค์อนาคตที่ดี และร่วมแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศชาติอย่างมีเป้าหมายต่อไป

หน่วยงานร่วมเจตนารมณ์
1. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. สหทัยมูลนิธิ
3. องค์การ Care for Children (Thailand)
4. องค์กร Step Ahead Bangkok
5. จังหวัด อำเภอ ตำบล สถานศึกษา สถานพยาบาล วัด (ในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ)

ทั้งนี้การดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตอบสนองความต้องการของเด็กอุปการะ ให้ได้มากที่สุดนั้น มูลนิธิฯ ไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพัง ต้องอาศัยการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมจากหน่วยงานร่วมเจตนารมณ์ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพราะกระบวนการบางขั้นตอนต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ระเบียบ และหลักการดำเนินงานทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวอุปการะ

ผลการดำเนินโครงการ
โครงการครอบครัวอุปการะฯ เริ่มดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยรับเด็กอายุ 5-6 ปี จากสถานสงเคราะห์ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถานสงเคราะห์เอกชน ไปอยู่กับครอบครัวอุปการะ โดยมูลนิธิฯ พิจารณาคัดเลือกครอบครัวที่มีความเหมาะสมให้กับเด็กแต่ละราย เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในสภาพแวดล้อมชุมชน ที่เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตที่ดีงาม

พร้อมให้ได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพ จนถึงอุดมศึกษา หรือการศึกษาสายอาชีพตามความสามารถ และความถนัด เพื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ ภายใต้กระบวนการดำเนินโครงการฯ 12 ขั้นตอน โดยดำเนินการใน 3 พื้นที่ คือ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในปี 2563 ได้ขยายโครงการไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นำร่อง 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย)

โดยร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน
จากการดำเนินงานกว่า 18 ปี มีเด็กอุปการะในโครงการครอบครัวอุปการะฯ รวมทั้งสิ้น 341 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. ออกจากโครงการครอบครัวอุปการะฯ ไปแล้ว จำนวน 276 คน ดังนี้
– ไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมชาวไทย จำนวน 5 คน
– ไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมต่างประเทศ จำนวน 47 คน
– กลับคืนสู่ครอบครัวเดิม จำนวน 211 คน
– ยุติการอุปการะ (เนื่องจากปัญหาพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญา) จำนวน 12 คน
– จบการศึกษา (ปริญญาตรี) จำนวน 1 คน

2. กำลังอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ จำนวน 65 คน แบ่งตามระดับการศึกษาได้ดังนี้
– ระดับปฐมวัย จำนวน 1 คน
– ระดับช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 1-3) จำนวน 18 คน
– ระดับช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6) จำนวน 8 คน
– ระดับช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) จำนวน 16 คน
– ระดับช่วงชั้นที่ 4 (มัธยมศึกษาปีที่ 4-6/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ 1-3) จำนวน 15 คน
– ระดับอุดมศึกษา จำนวน 7 คน