สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาชีพที่มีความสำคัญและขาดไปไม่ได้เลยคือ “นักบริบาล” ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องผ่านการอบรมอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้
อาชีพ “นักบริบาล” ไม่ใช่อาชีพที่ใช้ความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ “ใจ” ในการทำความเข้าใจผู้สูงอายุในหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 3 ทริค ง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ตามแบบฉบับของนักบริบาล มีดังนี้
1. การจัดท่านอน ซึ่งมีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพราะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยต้องจัดท่าให้ถูกต้องเหมาะสม มีการพลิกตะแคงตัวบ่อยๆ ทุก 30 นาที เพื่อป้องกันแผลกดทับและข้อติด จัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งบ่อยๆ และทุกวันต้องกายบริหารให้ผู้สูงอายุ อาทิ ยกแขนขึ้น-ลง เหยียดข้อศอก เข้า-ออก เป็นต้น
2. การดูแลเรื่องอาหาร สำหรับผู้สูงอายุแล้ว อาหารที่เหมาะสมคือสิ่งจำเป็น โดยปรับอาหารให้เหมาะสมกับโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ โดยมีลักษระอ่อนนุ่มเคี้ยวง่าย และรสชาติไม่จัด นอกจากนี้ยังควรหมั่นเปลี่ยนสถานที่รับประทานอาหาร เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
3. การสื่อสาร ผู้สูงอายุต้องการความใกล้ชิด เพราะฉะนั้นต้องพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ ถามความต้องการ หรือพูดคุยเรื่องทั่วไปเพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงา โดยต้องพูดช้าๆ ใช้คำง่ายๆ และสั้นๆ ให้เวลาในการคิดหรือตอบ อีกทั้งยังเป็นการประเมินผู้สูงอายุในด้านการสื่อสาร การมองเห็น การได้ยินลดลงหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวิธีที่ต้องใช้ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการจัดท่ากายบริหารส่วนต่างๆของร่างกาย การทำกายภาพบำบัด วิธีการขับเสมหะออกจากปอด เนื่องจากผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถขับเสมหะออกมาได้เอง การทำความสะอาดร่างกายผู้สูงอายุ การปูเตียงนอน ตลอดจนการจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ฯลฯ ดังนั้นอาชีพนักบริบาลจึงมีความสำคัญ เพราะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุทุกด้าน
ทั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาลมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนเยาวชนที่ด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสในการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพนักบริบาล ในการดูแลผู้สูงอายุได้อยากเป็นมืออาชีพ สามารถสร้างตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว สังคม และประเทศชาติ รองรับที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริบาล ตามหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ เป็นเวลา 420 ชั่วโมง ตลอดจนสนับสนุนคำแนะนำเชิงวิชาการในการปฏิบัติงาน
โดยปัจจุบัน มีเยาวชนในโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล ที่สำเร็จการศึกษา และได้ประกอบอาชีพนักบริบาล จำนวน 42 คน จากทั้งหมด 5 รุ่น ซึ่งมูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้เยาวชนไทยที่ด้อยโอกาสจะได้มีทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ ตลอดจนทำประโยชน์ให้สังคมโดยเป็นกำลังที่สำคัญในการรองรับสังคมผู้สูงอายุต่อไป
######