7 วัน ของ 3ชีวิต นศ.กับการฝึกงานในโครงการพัฒนาอาชีพปากรอ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

ปี 2564 นี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทได้ต้อนรับน้องๆนักศึกษา ฝึกงานจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สาขาธุรกิจเพื่อสังคม ชั้นปีที่ 3 จำนวน 3 คน ได้แก่ ธิดารัตน์ สาลี , ลีนา เกษตรกาลาม และสุพิชชา คณิตรุ่งเรือง เราทั้ง3ได้ลงภาคสนามการทำงานของพี่ๆมูลนิธิฯเพื่อศึกษาเรียนรู้ เชิงประจักษ์และเป็น work based learning อีกแนวทางหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้น้องๆได้ไปเรียนรู้โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ที่มูลนิธิฯได้เปิดโอกาสน้องๆนักเรียนจากโรงเรียนตชด.ได้มีโอกาสเรียนต่อเพื่อจะได้เติบโตเป็นคนดี พลเมืองดี อาชีพดี จากนั้นทั้ง เราทั้ง3เดินทางลงใต้ไปเรียนรู้โครงการพัฒนาอาชีพปากรอ ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิฯเข้าไปร่วมกับชุมชนปากรอแก้ปัญหาความยากจนน้องๆได้ถ่ายทอดบอกเล่าถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้

วันแรกที่ปากรอกับความประทับใจ โครงการส่งเสริมอาชีพตำบลปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นหนึ่งในโครงการที่ทางมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทดำเนินการ ภายใต้ ภารกิจคือ เพื่อพัฒนาชีวิตชนบท สร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพ เดิมตามบริบทภูมิสังคม แล้วเติมด้วยอาชีพใหม่ๆที่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพิ่มความรู้ ทักษะการจัดการ และการตลาด

พวกเรา ธิดารัตน์ -ลีนา -สุพิชชา เดินทางถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ในเวลา 9.50 น.ของวันที่ 19มี.ค.โดยมี พี่เอี้ยง-ชาญวิทย์ รัตนชาติ พี่ที่ดูแลโครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ เป็นคนมารับพวกเรา เพื่อเดินทางต่อสู่ตำบลปากรอ ระหว่างการเดินทางก็ได้รับฟังความเป็นมาในเบื้องต้นของโครงการ พร้อมกับชมเมืองหาดใหญ่ ตลาดกิมหยง อีกทั้งขณะข้ามสะพานติณสูลานนท์ก็ได้ผ่านเกาะยอและชมความงดงามของธรรมชาติ บริเวณทะเลสาบสงขลา

เมื่อเข้าสู่พื้นที่ตำบลป่าขาด เวลา 11.15 น. พี่ชาญวิทย์พาไปมอบเงินให้กับโรงเรียนวัดป่าขาดจำนวน 3,000 บาท หลังจากนั้นก็เดินทางต่อมาที่สวนเทพหยา เวลา 11.30 น. เพื่อเข้าร่วมรับฟังการประชุม ในหัวข้อเรื่อง ‘จากวิถีเมือง สู่วิถีชุมชน โคกหนองนาโมเดล’ และได้แนะนำตัวกับชาวบ้าน ในช่วงบ่าย ประมาณ 13.00 น. พวกเรามีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมของแกนนำพัฒนาตำบลขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง หลังจากนั้นได้ช่วยพี่ชาญวิทย์ในเรื่องการทำงบประมาณ และในเวลา 16.00 น.ได้เดินทางโดยใช้รถพี่ชาญวิทย์ เพื่อเข้าศึกษาพื้นที่บริบทชุมชนตำบลปากรอทั้ง 6 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่ที่ 1, 2 ไม่ติดทะเล ในส่วนของหมู่ที่ 3-6 ติดทะเลสาบสงขลา และได้แวะทักทายชาวบ้านระหว่างการเดินทางเพื่อเป็นการทำความรู้จัก นอกจากนี้ยังได้นั่งแพออกไปชมวิถีเล ในทะเลสาบสงขลาอีกด้วย

วันแรก เราทั้ง3ได้เรียนรู้
ได้ศึกษาคือความเข้าใจในบริบทชุมชนท้องถิ่น ของตำบลปากรอ และได้เห็นบรรยากาศการประชุม การปฏิบัติงานจริงของพี่เอี้ยงและชาวบ้านเกิดความประทับใจในความสวยงามของธรรมชาติในพื้นที่ และผู้คนในพื้นที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

วันที่สองที่ปากรอ เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชน
วันที่ 20 มี.ค.วันที่สองของการเริ่มต้นงาน พวกเราได้ไปดูงานพร้อมกับคณะนักเรียนโรงเรียนวัดประเจียก อ.สทิงพระ จำนวน 100 คน สถานที่แรกที่เริ่มศึกษา ในเวลา 9.30 น. คือ สวนลุงนาน เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ซึ่งลุงนานเป็นเกษตรกรต้นแบบ ครัวเรือนสัมมาชีพดีเด่น ต่อมาในเวลา 10.30 น. สวนอารมณ์ดี ของคุณลุงมนูญ ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ได้ความรู้เกี่ยวการปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งดีต่อสุขภาพ และเวลา 11.00 น. ได้ศึกษาที่สวนเทพหยา ในเรื่องการปลูกผัก การทำนา และการเลี้ยงสัตว์ แบบยั่งยืน

หลังจากนั้นในเวลา 12.00 น. ได้ไปศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาทครอบครัวสิงหนคร ณ อำเภอสิงหนคร ต่อมาในเวลา 12.30 น. ได้ไปร่วมศึกษาการทำกล้วยฉาบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตรพรีเมียมรำแดง ที่ต.รำแดง ได้พักทานอาหารกลางวัน เวลา 13.30 น. ที่บ้านของนางอุใหม หวันอิ เป็นหนึ่งในแกนนำและเกษตรกรที่ผลิตตาลโตนด หลังจากนั้น ได้เดินทางกลับมาที่สวนเทพหยาอีกครั้งในเวลา 14.30 น. เพื่อสังเกตการณ์การศึกษาดูงานของคณะนักเรียนโรงเรียนวัดประตูเขียน จำนวน 100 คน เวลา 16.30 น. ช่วยพี่ชาญวิทย์ทำแผนงบประมาณ ในเวลา 17.00 น. ได้สำรวจตลาดริมทางตำบลปากรอ หมู่ที่ 2 ว่ามีผลิตภัณฑ์ใดบ้าง และหลังจากนั้น ได้ไปนั่งเรือหางยาวชมสภาพภูมิทัศน์ของทะเลสาบสงขลา

สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้พบว่าชาวบ้านมีความพยายามที่จะผลิตสินค้าออกมาขาย ได้เห็นว่าในชุมชนมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง รวมทั้งได้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรและสิ่งที่ประทับใจ คือชาวบ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและยินดีที่จะให้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่ตนเองมีอยู่กับพวกเรา

วันที่สามที่ปากรอเรียนรู้การท่องเที่ยวชุมชน
จากนั้นพวกเราได้ร่วมกับคณะนักท่องเที่ยว ไปที่วัดป่าขาด มีการสักการะและร่วมกันทำบุญถวายสังฆทาน

เช้าของวันที่ 3 วันที่ 21 มี.ค.เวลา 8.00 น. พวกเราได้ร่วมกับคณะนักท่องเที่ยว ไปที่วัดป่าขาด มีการสักการะและร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานให้กับเจ้าอาวาสวัดป่าขาด เพื่อความเป็นสิริมงคล ในเวลา 8.30 น. ได้เดินทางมาที่สวนเทพหยา เพื่อรับฟังและเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียง เยี่ยมชมตลาดเทพหยา ไปพร้อมๆกับคณะนักท่องเที่ยว ต่อมา 10.30 น. เดินทางไปที่ เจี้ยงเซ็นเตอร์ ตำบลชะแล้ ซึ่งเป็นศูนย์การท่องเที่ยวของตำบลชะแล้ และได้พูดคุยกับ นายถาวร ชัยมโน ว่าที่เทศมนตรี เทศบาลตำบลชะแล้ ซึ่งผู้จัดการเจี้ยงเซ็นเตอร์เกี่ยวกับความเป็นมาและแผนการพัฒนาในอนาคต

ทั้งนี้การร่วมทริปกับคณะนักท่องเที่ยว ทำให้เห็นความร่วมจากทุกฝ่ายในชุมชนที่พยายามจะผลักดันขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งลักษณะการท่องเที่ยวชุมชน ในเวลา 11.20 น. พวกเราเดินทางกลับมาที่สวนเทพหยาเพื่อศึกษาผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปของชาวบ้านที่นำมาขายในตลาดเทพหยา เช่น อาหารทะเลแปรรูป น้ำตาลโตนดแบบผงและแบบเหลว ของว่างและอาหารท้องถิ่น เป็นต้น พวกเราทำการเก็บข้อมูลสินค้าจนถึงเวลา 13.00 น. และในเวลา 13.30 น. นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและคณะ ได้มาให้ความรู้และแนะแนวทาง ให้กับกลุ่มชาวเกษตรกรครอบครัวสิงหนคร พวกเราก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย จนถึง 16.30 น. หลังจากนั้นจึงกลับที่พักและสรุปข้อมูลที่ได้ศึกษามาในวันนี้

สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ ถึงการการท่องเที่ยวชุมชนและเห็นคุณค่าที่ชุมชนได้รับจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา และได้เก็บภาพและรายละเอียดข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่างๆในตลาดเทพหยา ถึง18 ผลิตภัณฑ์พบว่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเทพหยามีอัธยาศัยดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส และพร้อมให้ข้อมูลกับพวกเราอย่างเต็มใจ ให้พวกเราชิมอาหารต่างๆ รวมถึงขนมเทียนสลัดงา ที่เป็นขนมโบราณหาทานยากอีกด้วย

วันที่ 4 ที่ปากรอ:เรียนรู้มุมมองของผู้นำชุมชนปากรอ
วันนี้22 มี.ค.ในช่วงเช้าพวกเรารวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เราได้รับมาเมื่อสามวันที่แล้ว มาจัดทำในรูปแบบของเอกสาร ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึงเวลา 13.00 น. หลังจากนั้น 13.30 น. พี่ชาญวิทย์มารับไปพบกับ ท่านพิมล ทองกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากรอที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากรอ เพื่อพูดคุยสอบถามและขอคำแนะนำเกี่ยวกับความเป็นมาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนปากรอ ต่อมาในเวลา 14.30 น.ได้เข้าไปพูดคุยกับคนชุมชน หมู่5 ก็คือ คุณป้าจำเนียน แก้วชูศรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวบ้านปากรอที่แปรรูปอาหารทะเลและส่งขาย อีกทั้งยังมีการทำน้ำพริกแมงดาเพื่อขายส่งอีกด้วย

พวกเราก็ได้ทำการสอบถามและเก็บรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์จากคุณป้าจำเนียนด้วย หลังจากนั้น เวลา 15.00 น. พวกเราได้มีโอกาสไปพบกับกำนันไพทูล ไชยานุวงศ์ กำนันของตำบลปากรอ พวกเราก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำจากกำนันไพทูลในเรื่องของผลิตภัณฑ์แปรรูปของตำบลปากรอตั้งแต่หมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 6 เวลา 16.00 น. ได้เดินทางต่อไปดูวิถีตาลโตนด ที่บ้านของคุณอานพดล หมู่ 2 ตำบลปากรอ ซึ่งเป็นผู้ที่ขายส่งจาวตาลสดรายใหญ่ในตำบลปากรอ

และมีการทำน้ำส้มตาลโตนดขายด้วย คุณอานพดลได้สาธิตวิธีการปอกลูกตาลสดและให้พวกเราชิมลูกตาลสดๆจากต้น และเราก็ทำการเก็บข้อมูลจากคุณอานพดลด้วย และหลังจากนั้น เวลา 17.00 น. เราเดินทางไปที่บ้านคุณป้าละมัย บุญแก้วคง คุณป้าเป็นผู้ที่ทำน้ำตาลแว่นจากตาลโตนดรายใหญ่ในตำบลปากรอ คุณป้าได้ให้ความรู้้เกี่ยวกับวิธีการทำน้ำตาลแว่นกับพวกเรา รวมถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ของคุณป้าด้วย

วันนี้สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ คือการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชนและมุมมองของผู้นำชุมชนปากรอ ในการพัฒนาและส่งเสริมการรวมกลุ่มในอนาคต รวมทั้งคำแนะนำในการทำงานและที่ประทับใจ คือการได้เห็นการสาธิตการปอกลูกตาล ได้ลองชิมลูกตาลสดๆจากต้น และได้ชิมน้ำตาลโตนดสดที่คุณลุงเพิ่งเก็บลงมาจากยอดต้นตาลโตนด รวมทั้งคุณอานพดลยังให้จาวตาลสดกับพวกเราอีกด้วย

วันที่5 ที่ปากรอ:การพัฒนา “โคกหนองนาโมเดล”
วันนี้23 มี.ค.พวกเราเริ่มออกเดินทางไปที่สวนเทพหยา เวลา 10.30 น. พี่ชาญวิทย์พาพวกเราไปคุยเกี่ยวกับแผนการพัฒนาพื้นที่ดินบริเวณสวนเทพหยาตามแนวทางการพัฒนา “โคกหนองนาโมเดล” ต่อมาในเวลา 11.00 น. พวกเราได้มีโอกาสได้เข้าพบปะพูดคุยกับท่านสืบศักดิ์ กระดี่ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่าขาดและท่านอมรรัตน์ แก้วพิมล รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่าขาด

ทั้ง2ท่านได้ให้คำแนะแนำและให้ความรู้เกี่ยวกับบริบทชุมชนและผลิตภัณฑ์ในตำบลป่าขาด 12.00 น. ได้พบกำนันพล เอียดเปรียว พวกเราก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบทชุมชนในตำบลป่าขาดจากกำนันพล ในเวลา 13.00 น. พวกเรากลับมาสวนเทพหยาและได้พูดคุยกับ คุณกาญจนา บรรจงทอง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คุณกาญจนาได้ให้ความรู้ ข้อมูล และ คำแนะนำเกี่ยวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ได้แก่ กลุ่มกล้วยน้ำว้าฉาบของตำบลรำแดง และกลุ่มมะม่วงพิมเสนแช่อิ่มของตำบลสทิงหม้อ ต่อมาในเวลา 14.15 น. พวกเราเดินทางไปดูวิถีโหนด ทึ่ตำบลป่าขาด และได้เห็นการสาธิตวิธีการปอกลูกตาลโตนดสดเพื่อนำไปจำหน่าย เวลา 14.40 น. มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ คุณป้าสมใจ บุญส่ง ผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ตาลโตนดจากป่าขาด ปากรอและพื้นที่อื่นๆ คุณป้าสมใจได้ให้มันกุ้งมาชิมกับมะม่วงจากในสวนของคุณป้าอีกด้วย เวลา 15.10 น. ได้เข้าไปสอบถามข้อมูลและมีโอกาสได้ชมสถานที่เก็บผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปจำหน่าย ของคุณป้าจำเนียน โคกโสดา

ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายน้ำตาลโตนดรายใหญ่ในตำบลป่าขาด เวลา 15.40 น. ได้เข้าไปที่บ้านของคุณป้าสมหมาย สามคง ผู้ผลิตน้ำตาลโตนดส่งขาย พวกเราได้ชมการสาธิตวิธีการเคี่ยวน้ำตาลโตนดก่อนจะนำจำหน่าย 16.00 น. พวกเราได้เข้าไปพูดคุยกับคุณยายถนอม คังฆะมโน เป็นหนึ่งในผู้นำใบตาลมาผลิตเป็นแว่นสำหรับหยอดน้ำตาลโตนด คุณยายได้ให้ข้อมูลและสาธิตวิธีการทำให้เราดู ต่อมา 16.20 น. เราได้ชมการสาธิตการหยอดน้ำตาลแว่น 16.40 น. ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูป ที่ตำบลทำนบ ซึ่งในโรงงานมีการผลิต กุ้งแก้ว กุ้งหวาน และมันกุ้ง เป็นจำหน่ายแบบขายส่ง และในเวลา 17.15 น. พวกเราได้ล่องเรือหางยาวชมวิถีเล ที่บ้านบางไหน ตำบลปากรอ ได้เห็นโพงพางและกระชังปลาที่เป็นอุปกรณ์ในการทำอาชีพการประมง

วันนี้เป็นอีกวันที่ได้เรียนรู้ ข้อมูลเกี่ยวผลิตภัณฑ์ในตำบลป่าขาด รวมถึงบริบทชุมชน ได้ลองทำแว่นจากใบตาลและได้ลองชิมกุ้งหวานจากโรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูป ที่ตำบลทำนบ และมันกุ้งจากคุณป้าสมใจและที่ประทับใจ คือความใจดีและใจกว้างของชาวบ้าน เมื่อเราไปสัมภาษณ์หรือเก็บข้อมูล ไม่ว่าบ้านไหนก็จะให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและให้ของติดมือกลับมาลองชิมเสมอ


7 วันของการลงพื้นที่กับ 5 วันของการไปเรียนรู้ดูโครงการพัฒนาอาชีพปากรอ นับเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับพวกเราได้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของชุมชน บริบท ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนการพยายามของชุมชนในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นและการจัดการด้านการท่องเที่ยวของชุมชน อันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนในสาขาธุรกิจเพื่อสังคมของพวกเรา ต้องขอบคุณพี่ชาญวิทย์ ทีมงานมูลนิธิฯและพี่น้องชุมชนปากรอทุกคนที่ให้ความรู้ ประสบการณ์ที่ดีกับพวกเราที่เมื่อเรียนจบไปแล้วได้มีโอกาสช่วยเหลือพัฒนาสังคมต่อไป

จากนักศึกษาฝึกงาน