สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสถาบันวิจัยประชากรไทยและสังคม ม.มหิดล เปิดเผยว่า ประเทศไทยเรากำลังจะก้าวสู่ประเทศแห่งสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบแล้วในปี 65 เรียกได้ว่ารวดเร็วกว่าหลายประเทศอย่างมาก และที่สำคัญในปี 2574 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเหมือนญี่ปุ่น คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมดด้วยจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งในส่วนของประชาชน สังคม และรัฐบาล เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง
นั่นหมายถึงประเทศต้องเร่งเดินหน้าสร้างสิ่งแวดล้อมในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม เพราะประชากรกลุ่มนี้มีโอกาสตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงมากกว่าวัยอื่น โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ผู้สูงอายุหลายคนยังไม่ได้รับความเท่าเทียม เนื่องจากงบประมาณเบี้ยยังชีพจากนโยบายต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงวัยไม่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญในการเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ จึงได้ดำเนินการโครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทห่างไกล เพื่อยกย่องและกตัญญูต่อผู้สูงอายุ สร้างสุขสมวัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ยากของผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยให้เงินสนับสนุนรายเดือนๆละ 2000 บาท นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดจิตอาสาในการเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้สูงอายุหรือคนในชุมชน พัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เป็นชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือคนชุมชนด้วยกัน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับ สังคมผู้สูงอายุ” อย่างครบวงจร มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนสร้างอาชีพให้เยาวชน ในโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล เพื่อช่วยให้เยาวชนประกอบสัมมาอาชีวะ ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น 420 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มทักษะด้านการบริบาลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ให้มีความรู้และประสบการณ์นำไปทำงานดูแลผู้สูงอายุในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ตลอดจนงานด้านการบริบาล สามารถช่วยรองรับตลาดสังคมผู้สูงอายุได้ จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจในยุคนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://workpointtoday.com/thai-agingsociety-65/