11 มกราคม 67 : คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะ รองประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วยผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ “อมก๋อยโมเดล” “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” โดยรับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ พร้อมร่วมกิจกรรมเพาะต้นกล้าและมอบกล้าไม้แก่ผู้แทนชุมชนจาก 6 ตำบล 1 เทศบาล ในพื้นที่อมก๋อย รับฟังรายงานความคืบหน้าโครงการด้านการศึกษา (ทรูปลูกปัญญา) พร้อมมอบทุนการศึกษาแด่นักเรียน โรงเรียนบ้านมูเซอ ที่ทำการแสดงประจำชาติพันธุ์ต้อนรับในบทเพลง “ลาหู่ย่า” ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.อมก๋อย ร่วมพิธีการบวชป่า ณ ป่าอนุรักษ์บ้านมูเซอ และเยี่ยมชมแปลงเกษตรในโครงการฯ บ้านมูเซอ ต.ม่อนจอง พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง ภายใต้โครงการอมก๋อยโมเดล มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า โครงการ “อมก๋อยโมเดล” โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ขับเคลื่อนโครงการผ่าน 6 แผนงาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” โดยดำเนินแผนงานด้าน “กาแฟสร้างป่า ยกระดับวิถีชีวิตคนบนดอย” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานหลักที่มุ่งเน้นสร้างอาชีพสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชุมชน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูผืนป่า โดยมูลนิธิฯ ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อมุ่งเน้นให้กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้เกิดการจัดการผลผลิต ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงเกิดการผลักดันต่อยอดจัดตั้งโรงแปรรูปขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการแปรรูปกาแฟ ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมูลนิธิฯ ได้เข้าไปดำเนินการนำร่องพัฒนาพื้นที่ บ้านมูเซอ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จำนวน 100 ไร่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่การปลูกกาแฟสร้างป่า โดยปัจจุบันมีสมาชิกแล้ว 97 ราย ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชทางเลือกอย่างกาแฟอะราบิกา ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ทั้งนี้มูลนิธิฯ ยังได้เข้ามาผลักดันกลุ่มวิสาหกิจฯ สนับสนุนการแปรรูปกาแฟเป็น “กะลากาแฟ” พัฒนาและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กาแฟบ้านมูเซอ ภายใต้แบรนด์ “Lahu Sheleh Mon Jong Coffee” และการเชื่อมโยงตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร พร้อมยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ Social Enterprise อย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในชุมชน ส่งเสริมทักษะอาชีพผ่านโครงการ “บาริสต้าน้อยบ้านมูเซอ” ที่มีความมุ่งมั่นต้องการต่อยอดผลผลิตเมล็ดกาแฟของพ่อแม่ สู่ธุรกิจร้านกาแฟและอาชีพบาริสต้า สร้างงาน สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งภายในงานครั้งนี้ก็มี “บาริสต้าน้อยบ้านมูเซอ” เข้ามาร่วมแสดงฝีมือการดริปกาแฟให้แก่คณะผู้บริหารฯ ได้ลิ้มลองรสชาติกาแฟจากผลผลิตชุมชนด้วย
นางสาวยุพิน จะนะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เปิดเผยว่า ” เมื่อก่อนชาวบ้านในหมู่บ้านเราปลูกกาแฟ แล้วขายให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่เมื่อมูลนิธิฯ ได้เข้ามาให้องค์ความรู้ จึงเกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อพัฒนาและยกระดับกาแฟ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ที่ดีให้กับชุมชนของเรา ต้องขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่เข้าสนับสนุนและส่งเสริมสร้างสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนของเราค่ะ”
พร้อมกันนี้คณะผู้บริหารฯ ได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีทำการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่การปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น กาแฟ ฟักทองมินิบอล ภายใต้แผนงานเกษตรมูลค่าสูง “กาแฟสร้างป่า ยกระดับวิถีชีวิตคนบนดอย” นอกจากจะเป็นการยกระดับรายได้แล้วยังเป็นการฟื้นฟูผืนป่าด้วย โดยผลิตผลทางการเกษตรภายในโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ในการเป็นตลาดรองรับผลผลิตที่มีมาตรฐานและคุณภาพ และประกันราคาขายอย่างเหมาะสมและยุติธรรมให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้คณะผู้บริหารฯ ยังได้เข้าร่วม “พิธีบวชป่า” ซึ่งเป็นพิธีกรรม ความเชื่อของชาวพุทธที่มีมาช้านาน เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้ประชาชนรู้จักคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้ ผ่านการสร้างความเชื่อที่ว่าผืนป่านั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาอยู่ จะเข้ามาบุกรุกทำลายไม่ได้ โดยเป็นพื้นที่ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านอนุรักษ์และร่วมดูแลโดยในอนาคตจะขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เพื่อต่อยอดเรื่องการเคลมคาร์บอนเครดิต
สรุปผลการติดตามความคืบหน้าโครงการ “อมก๋อยโมเดล” “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” มีผลการดำเนินงานภายใต้ 6 แผนงาน แผนงานการปลูกต้นไม้ ปัจจุบันได้ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยได้ดูแลและปลูกต้นไม้ใหม่ไปแล้วกว่า 2,534 ไร่ เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนภาคเหนือ แผนงานอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) ปัจจุบันมีกวางผาอยู่ในการดูแลในสถานี จำนวน 83 ตัว ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้ว 8 ตัว โดยสนับสนุนการสร้างความสมดุล คน สัตว์ป่า ให้อยู่ร่วมกันได้แบบพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างสมดุล แผนงานเกษตรมูลค่าสูง สนับสนุนการปลูกกาแฟ และ ฟักทองมินิบอล มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 25 ราย สร้างรายได้กว่า 829,000 บาท ภายใต้แนวคิด “ทำน้อยได้มาก สร้างทางเลือก อาชีพใหม่ที่ยั่งยืน” แผนงานด้านกาแฟสร้างป่า ยกระดับวิถีชีวิตคนบนดอย โดยมีเป้าหมายปลูกกาแฟในพื้นที่จำนวน 2,000 ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่ใหม่ จำนวน 1,000 ไร่ และต่อยอดยกระดับพื้นที่ปลูกกาแฟเดิม จำนวน 1,000 ไร่ ปัจจุบันนำร่องสำหรับการปลูกใหม่ไปแล้วจำนวน 310 ไร่ และดูแลต่อยอดกาแฟแปลงเดิม 230 ไร่ ในขณะที่แผนงานด้านวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม พัฒนาสู่ศูนย์รวมความร่วมมือ และการแบ่งปันองค์ความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน สร้างโอกาส การแข่งขันในตลาด โดยปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจและชุมชนเข้าร่วมทั้งสิ้น 9 กลุ่ม 197 ครัวเรือน และแผนงานด้านการศึกษา (ทรูปลูกปัญญา) มุ่งสร้างองค์ความรู้ให้คนอยู่ร่วมกับป่า ขยายภาคีเครือข่ายโรงเรียน จัดค่ายเยาวชน “อมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ไปแล้ว 20 โรงเรียน รวมบุคคลากรที่ได้รับประโยชน์ 3,477 คน
ทั้งนี้ตลอดการดำเนินงานโครงการ “อมก๋อยโมเดล” มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้รับการสนับสนุนและผนึกกำลังทั้งจากทางภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง อ.อมก๋อย อบต.นาเกียน อบต.ยางเปียง อบต.สบโขง อบต.ม่อนจอง อบต.แม่ตื่น เทศบาลต.อมก๋อย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โรงเรียนภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่อ.อมก๋อย และกลุ่มธุรกิจซีพี ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เจียไต๋ จำกัด, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพีแรม จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพีแอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (แมคโคร), และ บริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนบนพื้นที่สูง สร้างอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนภาคเหนือ เพื่อให้คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป