วันนี้ (13 มิถุนายน 2565) มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดประชุมพิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณปีบริหาร 2565 โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมจำนวน 28 ท่าน นำโดย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย คุณสุภกิต เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ และคณะกรรมการ อาทิ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ คุณณรงค์ เจียรวนนท์ คุณขจร เจียรวนนท์ ฯลฯ
คุณจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานโดยมีเป้าหมาย “มุ่งสร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้าน” คือ คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดี ภายใต้การพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านพัฒนาชุมชนและเกษตรกร ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนโครงการตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มูลนิธิฯ ก็ยังคงสามารถขับเคลื่อนงานโครงการต่างๆ ได้ตามแผนงานปีบริหาร 2564 ทำให้สามารถส่งมอบคุณค่าสู่สังคม มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 905 โรงเรียน สามารถผลิตไข่ไก่ได้จำนวน 19.5 ล้านฟอง โดยการดำเนินงานทั้ง 13 โครงการ มีผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่ เด็กนักเรียนได้บริโภคไข่ไก่ 182,000 คนชุมชน 2,015 ชุมชน ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง 3,845 คน งานด้านส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 1,616 คน และในปีนี้ได้เตรียมกล้าไม้ 72,500 กล้า ที่เตรียมปลูกในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว
สำหรับแผนงานในปีงบประมาณ 2565 ทั้ง 4 ด้าน ยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยในด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน มีจำนวน 2 โครงการที่มีแผนงานจะขยายโครงการ ได้แก่ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีเป้าหมายเพิ่มโรงเรียนอีก จำนวน 25 โรงเรียน และโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม มีแผนการดำเนินงานดูแลเด็กในโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน และอีก 2 โครงการมีแผนดำเนินงานต่อเนื่องจากเดิม ได้แก่ โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ และโครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร จ.เพชรบุรี ในการดูแลเด็กนักเรียนทุนฯ จำนวน 109 โรงเรียน และเดินหน้าศูนย์สาธิตทางการเกษตร และขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนโดยรอบศูนย์
แผนงานในด้านพัฒนาชุมชนและเกษตรกร ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ โครงการพัฒนาอาชีพ ต.ปากรอ จ.สงขลา ตามดำริ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ จ.บุรีรัมย์ โดยได้รับความร่วมมือกลุ่มธุรกิจ มูลนิธิฯ ชุมชนและเกษตรกร ใน 7 เรื่อง ได้แก่ เติมความรู้ การจัดการและเทคโนโลยีให้เกษตรกร การเชื่อมโยงการตลาด การแปรรูปเพิ่มมูลค่า เกษตรมูลค่าสูง การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างผู้นำเกษตรรุ่นใหม่ และการออมในรูปแบบธนาคารชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน
แผนงานในด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับโครงการกตัญญูและศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงวัย ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและนครพนม โดยยังคงดำเนินการสนับสนุนเงินค่ายังชีพ จำนวน 2,000 บาท นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายกว่า 15 หน่วยงาน ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆกับผู้สูงอายุ จำนวน 2,531 คน อาทิ การพัฒนาความรู้ การพัฒนาสุขภาพ สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ฝึกทักษะอาชีพ และโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล มีแผนงานฝึกอบรมสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน โดยร่วมกับหน่วยงานและโรงเรียนด้านการบริบาล
และสุดท้ายแผนงานในด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในโครงการอมก๋อยโมเดล “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” โดยยังคงดำเนินงานต่อเนื่อง โดยเข้าไปอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ส่งเสริมอาชีพรายได้อย่างยั่งยืน และสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นที่อ.อมก๋อยใน 3 ตำบล มีเกษตรกรในโครงการแล้ว 94 ครัวเรือน มีโรงเรียน 4 โรงเรียน นักเรียน 978 คน นอกจากนี้ ยังเพิ่มแผนงานใหม่ การอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) ในพื้นที่อมก๋อย ตามข้อชี้แนะของดร.อาชว์ เตาลานนท์ กรรมการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โดยกวางผาถือว่าเป็นสัตว์สงวน 1 ใน 19 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีแผนงาน ได้แก่ ศึกษาและวิจัยพันธุกรรม ถิ่นอาศัย การจัดการโซนนิ่งระหว่างพื้นที่กวางผากับชุมชน การพัฒนาแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การขยายพันธุ์ การพัฒนาสถานอนุบาลสัตว์ การติดตั้งกรงและกล้องภาพถ่าย และการติดตามสถานะความเป็นอยู่ของกวางผา
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ขอชื่นชมสำหรับโครงการอมก๋อย โมเดล ในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้มีรายได้ที่มากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นพื้นที่ที่รณรงค์เรื่องการเผาป่าแก้ปัญหา PM2.5 โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังเพิ่มงานด้านการอนุรักษ์กวางผา ซึ่งจะเป็นจุดเด่นของมูลนิธิฯ ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มศึกษาโดยร่วมกับหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และอื่นๆ จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล เป็นเรื่องของการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญ ซึ่งมูลนิธิฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนา ทำให้ในอนาคตจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ โครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร จ.เพชรบุรี เตรียมขออนุญาติเข้าไปดำเนินงานพัฒนาปรับปรุงศูนย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 ในการต่อยอดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ พลอากาศเอก ชลิต กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เห็นชอบและอนุมัติแผนและงบประมาณประจำปี 2565 ในการดำเนินโครงการทั้ง 13 โครงการ ใน 4 ด้าน ในการขับเคลื่อนงานในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถส่งมอบคุณค่าสู่สังคม ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งเเวดล้อม ควบคู่กันอย่างยั่งยืน