++++++++++++++++++++
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลัง 6 ภาคีเครือข่าย MOU พัฒนาอาชีพนักบริบาล หนุนศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ รับมือกับสังคมผู้สูงวัยประเทศไทย
15 กันยายน 2566 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาอาชีพด้านบริบาล ระหว่างมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กับ 6 หน่วยงานภาคี เครือข่าย โดยมี นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสยาม โชคสว่างวงศ์ รองอธิการบดีอาวุโสสายงานบริหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นายแพทย์ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นางสาวอรนันท์ อุดมภาพ ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล ดร.พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล นางจุฑาภัค สิงห์สมบุญ ผู้จัดการโรงเรียนจุฬารัตน์ อินเตอร์ เฮลท์ นายพิศาล ตันติวิวัฒน์ ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนดิษฐ์ราการบริบาล เข้าร่วมในพิธีลงนามข้อตกลง (MOU) ณ ห้องประชุม Convention Hall 1 ชั้น 3 อาคารหอประชุม สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แจ้งวัฒนะ
คุณจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า “ด้วยสถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทย ที่นับวันสัดส่วนค่าเฉลี่ยของประชากร ผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มสูงมากขึ้น และก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยมูลนิธิฯ ตระหนักถึง สถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นในการสร้างนักบริบาลซึ่งถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ จึงได้ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย วันนี้จึงเป็นนิมิตหมาย ที่ดียิ่ง ที่จะร่วมผนึกกำลังทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริบาลในการ พัฒนาศักยภาพนักบริบาลผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม เป็นกลไกหนึ่งในการเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยต่อไป”
ซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาอาชีพด้านบริบาลในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทย สร้างการผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนดำเนินงานด้านการบริบาลเพื่อการพัฒนาศักยภาพนักบริบาลผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และเพื่อยกระดับการดำเนินงาน โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาลให้เป็นแบบอย่างของภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญในมิติการดูแลผู้สูงอายุ
นายแพทย์ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า “สถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และได้เข้าสู่การเป็นสังคม ผู้สูงอายุ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 12 ล้านคน หรือร้อยละ 18 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งถือเป็น อันดับ 2 ของทวีปเอเชีย และจะเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)” ในปี พ.ศ.2574 นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข คือ การสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จึงได้มีการจัด“อบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ420 ชั่วโมง” ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดอบรมจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ พัฒนาชีวิตชนบท”
เครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งสร้างค่านิยม “ความกตัญญู” โดย ได้มอบนโยบายให้ทุกกลุ่มธุรกิจของ CP ที่ไปดำเนินกิจการในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทย ร่วมกับชุมชน ค้นหา “ผู้สูงอายุ ที่มีฐานะยากจน และถูกทอดทิ้ง” แล้ว ให้พนักงานที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น เข้าไปดูแลทั้งด้านความเป็นอยู่ อาหารการกิน รวมถึงมอบค่าปัจจัยครองชีพให้ตลอดอายุขัย ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงได้ยึดหลักดำเนินงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมุ่งสร้างค่านิยม “ความกตัญญู ยกย่องผู้สูงอายุ และส่งเสริมสุขภาพที่ดี” ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ มูลนิธิฯ จึงตระหนักว่าจำเป็นต้องสร้างนักบริบาลซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล โดยได้มอบทุนสนับสนุนการศึกษา ฝึกอบรมหลักสูตรด้านการบริบาลที่เปิดสอนในสถาบันของภาคีเครือข่ายไปแล้ว จำนวน 249 คน โดยสำเร็จการศึกษา 222 คน กำลังศึกษาอยู่ 27 คน และมีแผนเพิ่มจำนวนในทุกๆ ปี ปีละ 100 คน
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้จะเป็นการผนึกกำลังทั้ง ภาครัฐ – เอกชน ขับเคลื่อนงานด้านการบริบาลในการพัฒนาศักยภาพนักบริบาลผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านบริบาลอย่างเป็นรูปธรรมและ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในภาพรวมของประเทศ เตรียมบุคลากรเป็นผู้ประกอบอาชีพใน การบริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพให้เพียงพอสามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุและเกิด ประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพให้มีภาวะสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อ สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ สอดรับกับค่านิยมองค์กรเรื่องความกตัญญู รู้คุณคน และการตอบแทนคุณแผ่นดิน 1 ใน 6 ค่านิยมองค์กรที่มูลนิธิฯ ได้ยึดมั่นเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินงานมาโดยตลอดอีกด้วย