14 ตุลาคม 2565 – มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดประชุมสามัญประจำปี 2565 โดยมี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ประกอบด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร คุณณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร คุณธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแม็คโคร ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจโลตัสส์เอเชีย-แปซิฟิก นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำนวนรวม 21 ท่าน
โดยการประชุมดังกล่าวฯ มีวาระที่สำคัญ ได้แก่ การรายงานผลการดำเนินงาน และการรับรองงบการเงินปีบริหาร 2564 การพิจารณาแผนงานและงบประมาณเพิ่มเติมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันพื้นที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จ.ตาก” การพิจารณาแต่งตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ลาออก และการพิจารณาเปลี่ยนแปลงและแต่งตั้งเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ ปัจจุบัน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 35 ดำเนินโครงการต่อเนื่องกว่า 14 โครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนา “มุ่งสร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้าน” คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดี ครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ภายใต้การพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน ด้านพัฒนาชุมชนและเกษตรกร ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
โดยในปี 2565 มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน เข้าไปดำเนินงานแล้วกว่า 75 จังหวัด ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ส่งผลเชิงบวกทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และเกษตรกรในชนบทห่างไกล มุ่งสร้างการเจริญเติบโตของเยาวชนคุณภาพดีสู่สังคม ครอบคลุมทั้งมิติด้านครอบครัว การศึกษา ฝึกฝนอาชีพ และเข้าถึงแหล่งโภชนาการสมวัย สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีเป้าหมายเพื่อสร้างและส่งเสริมภาวะโภชนาการให้แก่นักเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล และส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริงในการเลี้ยงไก่ไข่ และให้โรงเรียนมีรายได้จากโครงการฯ โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 905 โรงเรียนทั่วประเทศ สามารถผลิตไข่ไก่เพื่อบริโภคและจำหน่ายได้ถึง 19.5 ล้านฟอง สามารถช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการของนักเรียนได้
โดยในปีนี้ ยังคงดำเนินการติดตามผลและปรับปรุงโรงเรือนแต่ละโรงเรียน พร้อมขยายผลโครงการไปยังโรงเรียนอื่นๆอย่างต่อเนื่อง โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาดูแลอยู่หอในศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร เพื่อบ่มเพาะให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณธรรม รวมถึงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยเฉพาะด้านการเกษตร โดยในปีนี้ จะยังคงดูแลเด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับชั้นม.1 – ม.6 กว่า 100 คน โครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร มีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่ฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนทุนฯดังกล่าว นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเป็นสถานที่ศึกษา สถานที่ดูงาน ศูนย์สาธิตด้านการเษตรแก่เด็กและเยาวชน เกษตรกร และผู้ที่สนใจ และโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม (เด็กกำพร้า) มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กกำพร้าได้รับความรักความอบอุ่น และความมั่นคงทางจิตใจจากครอบครัวอุปการะ สามารถเติบโตมีพัฒนาการที่สมวัย และได้รับการศึกษา ช่วยหล่อหลอมให้เติบโตเป็นคนดี เป็นพลเมืองดีของสังคมทั้งทางกายและจิตใจ โดยดำเนินโครงการใน 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยในปีนี้ ยังคงดูแลและติดตามเด็กและครอบครัวในโครงการอย่างต่อเนื่อง และรับเด็กกำพร้าใหม่เพิ่มเติมด้วย
ต่อมา งานด้านพัฒนาชุมชนและเกษตรกร มีจำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ โครงการพัฒนาอาชีพ ตำบลปากรอ ตามดำริ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จ.สงขลา เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ จ.บุรีรัมย์ และโครงการสนับสนุนการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน ในการส่งเสริม 7 เรื่อง อาทิ เติมความรู้ การจัดการและเทคโนโลยีให้เกษตรกร การแปรรูปเพิ่มมูลค่า เกษตรมูลค่าสูง การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างผู้นำเกษตรรุ่นใหม่ การเชื่อมโยงการตลาด และการออมในรูปแบบธนาคารชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน โดยมีเกษตรกรในโครงการแล้วกว่า 3,000 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 12.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังรับนโยบายเรื่อง “ความกตัญญู” ผู้มีคุณต่อประเทศชาติ ของเครือซีพี ในการดำเนินงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านโครงการกตัญญูและศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงวัย โดยมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ยากลำบาก ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และเสริมสร้างค่านิยมความกตัญญูให้แก่พนักงานตลอดจนชุมชน นอกจากนี้ยังสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุร่วมกับภาคีชุมชน อาสาสมัคร และพนักงานเครือซีพี นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล มีเป้าหมายสร้างโอกาสทางการศึกษา และยังเป็นการสร้างอาชีพบริบาลให้แก่เยาวชนที่สนใจ ในการเรียนรู้ ฝึกฝนอาชีพ และรองรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอย่างดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยในปีนี้ จะดำเนินโครงการร่วมกับโรงเรียนการบริบาลจำนวน 5 แห่ง และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรม มีนักเรียนที่สนใจเข้าร่วม 100 คน
สำหรับงานด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในโครงการอมก๋อย โมเดล จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสมบูรณ์ของประเทศไทยกว่า 1 ล้านไร่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่อ.อมก๋อย อย่างยั่งยืน ผ่านแผนงาน 7 โมเดล โดยการดำเนินงานที่ผ่านมามีการปลูกต้นไม้ จำนวนกว่า 39,000 ต้น มีเกษตรกรในโครงการจาก 3 ตำบล รวม 990 ครัวเรือน นอกจากนี้ ในปีนี้ยังเพิ่มโมเดลด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) เพื่อรักษากวางผาที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยให้อยู่ในภาวะสมดุลและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ยังเสนอแผนงานเพิ่มเติม คือ ขยายผลโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ไปในโรงเรียนพื้นที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จ.ตาก
ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พั ฒนาชีวิตชนบท ได้เห็นชอบและอนุมัติแผนงานและงบประมาณในปี 2565 ทั้ง 14 โครงการ ในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถส่งมอบคุณค่าสู่สังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนองค์การสหประชาชาติ (SDGs) ภายใต้การดำเนินงานส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาอาชีพขจัดความยากจน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน