เครือซีพี ผนึกกำลังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า “อมก๋อยโมเดล” ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ 10,000 ไร่ สร้างอาชีพ-รายได้-เสริมชุมชนเข้มแข็ง หนุนคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน “อมก๋อยโมเดล” ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หวัง “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี สนับสนุนเงินทุน และการตลาด มุ่งส่งเสริมการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าต้นนำที่เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำลำธารตามธรรมชาติ จึงผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาทิ โลตัส แม็คโคร ทรู ซีพีเอฟ ฯลฯ และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 2564-2568 “อมก๋อยโมเดล” เพื่อมุ่ง “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ด้วยการปกป้องรักษาป่าต้นน้ำในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่เป้าหมาย 10,000 ไร่ ด้วยเกษตรกร 710 ครัวเรือน เพื่อสร้างกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) ใน 6 วิสาหกิจชุมชน พร้อมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนใน 20 โรงเรียน ด้วยโมเดลการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน ผ่านการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน บนพื้นฐานชุมชนเข้มแข็ง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

“โครงการอมก๋อยโมเดล เกิดจากดำริของ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือซีพี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าอมก๋อย ซึ่งพื้นที่ 99% เป็นป่าต้นน้ำ ดังที่มาของชื่อ อมก๋อย ที่มาจากคำว่า อำกอย เป็นภาษาเลอเวือะ หรือ ภาษาละว้า แปลว่า ขุนน้ำหรือต้นน้ำ โดยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ทั้งลำน้ำแม่ต๋อม และลำน้ำแม่ตื่น ที่เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกลับมีสภาพที่เสื่อมโทรม และยังนับเป็นการสนองแนวพระราชดำริ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พื้นที่อมก๋อยมีวิถีแห่งชาติพันธุ์ เพราะถือเป็นอำเภอที่มีชุมชนกระเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี เงินทุน และการตลาด จึงเกิดแนวคิดในการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนที่สูง โดยให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง พื้นที่เป็นตัวตาม แล้วซีพีเป็นตัวเติม ให้ชาวบ้านเข้าใจ เข้าถึง สู่การพัฒนา” นายจอมกิตติ กล่าว

นายจอมกิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันดำเนินตาม 3 แผนยุทธศาสตร์ ทั้ง ยุทธศาสตร์ 1 ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่าต้นต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ ด้วยการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) มีเป้าหมายพื้นที่ปลูกกาแฟรวม 1,000 ไร่ สำหรับในปี 2564 มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกจำนวน 130 ไร่ โดยดำเนินการในบ้านเกียนใหม่ ต.นาเกียน บ้านปิตุคี ต.ยางเปียง และบ้านยางเปียงใต้ ต.ยางเปียง โดยมีเกษตรกรร่วมโครงการ 72 ราย พร้อมมีแผนสนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟชุมชน จำนวน 1 โรง ในนามโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชน กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) อมก๋อยโมเดล สนับสนุนโดยเครือซีพี ซึ่งถือเป็นกิจการเพื่อสังคม (SE) โดยมีเป้าหมายสร้างกำไรสุทธิ 10,000 บาท/ไร่ ส่วน ยุทธศาสตร์ 2 สร้างอาชีพรายได้ที่ยั่งยืน เกษตรมูลค่าสูง และกิจการเพื่อสังคม โดยในปี 2564 ดำเนินการส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมด้วยพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ได้แก่ ฟักทอง เพื่อจำหน่ายแก่โลตัส (LOTUS’s) และตลาดเครือข่าย โดยดำเนินการในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ต.นาเกียน มีเกษตรกรร่วมโครงการ จำนวน 15 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ปริมาณผลผลิตฟักทอง ประมาณ 64 ตัน ใน 32 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร 960,000 บาท หรือประมาณ 64,000 บาท ต่อราย และยุทธศาสตร์ 3 สร้างชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยโครงการข้าวไร่ 1-2-3 ในแปลงไร่หมุนเวียน เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย ดำเนินการในบ้านปิตุคี ต.ยางเปียง จำนวน 2 ราย ควบคู่กับโครงการการศึกษา (ทรูปลูกปัญญา) โดยดำเนินการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียนในพื้นที่อำเภออมก๋อย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 20 โรงเรียน

“อมก๋อยโมเดล มุ่งสนับสนุนให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า” อย่างสมดุล ผลักดันให้ “ธรรมชาติและระบบนิเวศน์ได้รับการฟื้นฟู” ด้วยการเพิ่มจำนวนต้นไม้ราว 850,000 ต้น บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ช่วย “ลดการใช้สารเคมี” ในป่าต้นน้ำสำคัญ สนับสนุนการเกษตรแบบ “ไม่เผา” แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ สร้าง “เกษตรกรรมแบบยั่งยืน” ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยส่งเสริมให้ “ชาวบ้านมีอาชีพรายได้ที่มั่นคง” มีรายได้สุทธิ 10,000 บาท/เดือน หรือ 120,000 บาท/ปี หรือ 45 ล้านบาท ภายใน10ปี เกิด “เศรษฐกิจโดยชุมชน” มูลค่า 136 ล้านบาท ภายใน 10 ปี ใน 710 ครัวเรือน ควบคู่กับการ “พัฒนาการศึกษา” ผ่านทรูปลูกปัญญา แก่ 20 โรงเรียน นักเรียน 3,380 คน ส่งเสริมให้เด็กนักเรียน สามารถดึงศักยภาพของตนเอง สู่การเป็น “เด็กดีและเด็กเก่ง” ทั้งหมดนี้เพื่อ “ตอบแทนคุณแผ่นดิน” สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง” นายจอมกิตติ กล่าวทิ้งท้าย./


……………………………………