ในปัจจุบันผู้คนมักได้ยินคำว่าสังคมผู้สูงวัย ซึ่ง “สังคมสูงวัย” คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2573 คาดว่าจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัย มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก และถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged Society)
ญี่ปุ่นตื่นตัวสร้างโมเดลดูแลผู้สูงอายุแบบยั่งยืน
โดยปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุ (ตั้ง แต่ 65 ปีขึ้นไป) มากที่สุดในโลกมายาวนาน โดยมีจำนวนประมาณ 36 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด แต่ยังประสบภาวะขาดแคลนแรงงานบริบาลอย่างหนัก ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นต่าง ตื่นตัวที่จะสร้างโมเดลการดูแลผู้สูงอายุแบบยั่งยืน อาทิ เมืองโคกะ จังหวัดอิบารากิ เป็นอีกหนึ่งในหลายๆเมือง ที่ต้องประสบปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจำนวนประชากรจะมีเพียง 1.4 แสนคน แต่ขณะนี้ร้อยละ 20 เป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ภายในเมืองมีสถานบริบาลผู้สูงอายุมากถึง 4 แห่ง รองรับผู้สูงอายุพักประจำแล้วกว่า 300 คน โดยปัจจุบันเป็นเมืองนำร่องที่มีการรับแรงงานไทยเข้าไปประกอบอาชีพบริบาลผู้สูงอายุตามมาตรฐานแรงงานญี่ปุ่น
สำหรับประเทศญี่ปุ่น งานบริบาลผู้สูงอายุยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นมากนัก เพราะเป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนักและเหนื่อย อีกทั้งการทำงานไม่เป็นเวลา จึงต้องมีการสร้างความร่วมมือไปยังประเทศใกล้เคียง อาทิ ประเทศไทย , เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซยี ในการพัฒนาแรงงานบริบาลเข้ามาทำงาน
Mr.Makoto Mori President of Social Welfare Corporation AIwakai ผู้ประกอบการสถานบริบาลผู้สูงอายุ 3 แห่ง ในเมืองโคกะ กล่าวว่า ทุกวัน นี้เราเปิดพื้นที่รองรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการทำงานที่ต้องมีกลไกจากคนเป็นเครื่องมือสำคัญนั้น ต้องใช้หลักของความสุขเป็นพื้นฐานให้กับคนที่ทำงานด้านการบริบาลจะต้องทำงานด้วยใจรัก เพราะหากคนทำงานมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ มีองค์กรที่คอยเป็นผู้หยิบยื่นแนวทางการทำงานที่สนับสนุนให้การทำงานแบบมีความสุข ก็จะสามารถส่งต่อความสุขไปยังผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลได้เป็นอย่างดี
คนทำงานต้องมีความสุขก่อน เป็นหัวใจของนักบริบาล
ทางด้าน Mr.Chikara Hariya นายกเทศมนตรีเมืองโคกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทางเทศบาล พร้อมที่จะดูแลตามมาตรฐานแรงงานของประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกันกับทางสถานบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะสนับสนุนสวัดิการมีการทำงานตามมาตรฐานวันละ 9 ชั่วโมง และมีวันพักร้อน ตลอดจนการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นและการสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริบาล ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนแรงงานบริบาลผู้สูงอายุกว่า 6 หมื่นคน โดยทางเทศบาลเมืองโคกะให้ความสำคัญและเป็นนโยบายที่จะดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าหมายไม่ให้คนสูงอายุชาวญี่ปุ่นต้องมารอเข้าสถานบริบาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีการวางแผนและสนับสนุนให้เกิดสถานบริบาลให้เพียงพอกับจำนวนของผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแล
โดยในแต่ละปีทางเทศบาลเมืองโคกะได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุประมาณ 1พันล้านบาท จึงอยากแนะนำให้คนไทยที่จะเข้ามาทำงานด้านการบริบาลที่ประเทศญี่ปุ่นได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับคนญี่ปุ่นได้ ซึ่งการเข้ามาทำงานของคนไทยในการบริบาล ผู้สูงอายุถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและช่วยกระชับความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ในการสร้างงานสร้างอาชีพและเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เข้ามาประกอบอาชีพนี้ โดยอยากให้นำรูปแบบและเทคนิคการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นไปพัฒนาที่ประเทศไทย เพราะต่อไปประเทศไทยก็ต้องมีบริบทในการเผชิญกับปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยได้เข้าใกล้สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยสานักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ.2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงเห็นโอกาสและความสำคัญของอาชีพด้านการบริบาล ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่าทางสังคม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาลขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อเปิดโอกาสทั้งด้านการศึกษาและส่งเสริมอาชีพงานด้านการบริบาลให้แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น 420 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มทักษะด้านการบริบาลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ให้มีความรู้และประสบการณ์นำไปทำงานดูแลผู้สูงอายุในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ตลอดจนช่วยลดปัญหาการละทิ้งการเรียนกลางคัน ให้มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง สามารถเลี้ยงตัวเองและช่วยเหลือครอบครัวได้ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้มีส่วนร่วมสร้างโอกาสและส่งเสริมอาชีพเยาวชนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุแล้วกว่า 64 คน โดยได้นำความรู้และประสบการณ์ไปทำงานดูแลผู้สูงอายุในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอีกด้วย
ทั้งนี้ สังคมผู้สูงอายุ ยังเป็นประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก และกำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของหลายๆ ประเทศ ที่กำลังเผชิญปัญหากับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาชีพนักบริบาลจึงถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่มีความต้องการในสังคมปัจจุบัน และอนาคตที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มรูปแบบ
.
(อ้างอิง https://www.komchadluek.net/news/394665 //คนทำงานต้องมีความสุขก่อนหัวใจบริบาลผู้สูงอายุญี่ปุ่น)